ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ฉบับที่ 2 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ให้ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” และจากข้อสั่งการของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์จังหวัดศรีสะเกษ โดยให้มีพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ จำนวน 300,000 ไร่ ภายในปี 2564

นายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยเกี่ยวกับผลการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ความว่า “สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยใช้หลักการบูรณาการ ทั้งงบประมาณที่ได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตร งบพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ และงบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โดยจัดทำเป็นแผนงาน/โครงการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบแปลงใหญ่ ครอบคลุมทั้ง ข้าว พืชผัก และมันสำปะหลัง โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา มีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณพื้นที่การทำเกษตรตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ดังนี้

●ปี พ.ศ. 2560 จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวน 66,395 ไร่ แยกเป็น
1) พื้นที่เกษตรอินทรีย์เดิม ที่ได้การรับรองมาตรฐานแล้ว จำนวน 35,755 ไร่
– ข้าว 30,892 ไร่ (มาตรฐาน IFOAM, EU, NOP, USDA, FAIRTRADE, JAS,PGS)
– พืชอื่นๆ 4,863 ไร่ (มาตรฐาน มกท.)
2) ส่งเสริมพื้นที่เกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS เพิ่มขี้นอีก จำนวน 30,640 ไร่ แบ่งเป็น
– ข้าว 21,000 ไร่ (งบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)
– ข้าว 8,368 ไร่ (งบประมาณของกรมการข้าว โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์)
– ข้าว 1,272 ไร่ (งบประมาณของกรมพัฒนาที่ดิน)

●ปี พ.ศ. 2561 ขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS เพิ่มขึ้นอีก จำนวน 56,822 ไร่ แยกเป็น
– ข้าว 45,228 ไร่ (งบประมาณของกรมการข้าว โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์)
– ข้าว 194 ไร่ (งบประมาณของกรมพัฒนาที่ดิน)
– ข้าว 10,200 (งบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)
– พืชผัก 900 ไร่ (งบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)
– ไม้ผล 300 ไร่ (งบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)

●ปี พ.ศ. 2562 ขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS เพิ่มขึ้นอีก จำนวน 28,434 ไร่ แยกเป็น
– ข้าว 6,450 ไร่ (งบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)
– มันสำปะหลัง 1,500 ไร่ (งบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)
– ข้าว 4,950 ไร่ (งบพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ)
– ข้าว 15,534 ไร่ (งบประมาณของกรมการข้าว โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์)

จากผลการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ ปี 2558-2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่เกษตอินทรีย์ ดังนี้
1) พื้นที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 35,755 ไร่
2) พื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS จำนวน 30,640 ไร่
3) พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS ระยะปรับเปลี่ยน ปีที่ 2 จำนวน 56,822 ไร่
4) พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS ระยะปรับเปลี่ยน ปีที่ 1 จำนวน 28,434 ไร่
รวมมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 151,651 ไร่

นายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ว่า“การขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ จะดำเนินการควบคู่ กับการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาให้กลุ่มแปลงใหญ่เกษตรอินทรีย์ เป็นแหล่งเชื่อมโยงทางการตลาด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อสร้างและขยายตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี และภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายเกษตรกร “มหานครอินทรีย์” โดยเป็นเครือข่ายด้านการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และสนับสนุนด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นการพัฒนาให้ จังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์สู่ครัวโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน”
